หมวดหมู่: มติ ครม.

Gov ประเสริฐ

ผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2567

          คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลผลการดำเนินการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 4/2567 ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) เสนอ 

          สาระสำคัญของเรื่อง

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้จัดประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (นายประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานฯ ครั้งที่ 7/2567 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยมี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงาน กสทช. สมาคมธนาคารไทย สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อบูรณาการการทำงานและขับเคลื่อนการแก้ปัญหาภัยออนไลน์

          สำหรับผลการดำเนินงานที่สำคัญในระยะ 30 วัน มีดังนี้

          1. การปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์

          สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ดำเนินการปราบปรามจับกุมอาชญากรรมออนไลน์และมีคดีที่สำคัญ รวมทั้ง เร่งรัดจับกุมผู้กระทำความผิดที่เกี่ยวข้อง ในช่วงวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

              1) การจับกุมคดีอาชญากรรมออนไลน์รวมทุกประเภท ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 2,306 คน ลดลงร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 2,495 คนต่อเดือน

              2) การจับกุมคดีเว็บพนันออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 980 รายโดยมีจำนวนลดลงร้อยละ 7.89 โดยใกล้เคียงกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 ที่มีการจับกุมเฉลี่ยจำนวน 1,064 คนต่อเดือน

              3) การจับกุมคดีบัญชีม้า ซิมม้า ในเดือนกรกฎาคม 2567 มีจำนวน 208 รายซึ่งลดลงร้อยละ 13.33 เมื่อเทียบกับการจับกุมก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ซึ่งมีการจับกุมเฉลี่ยในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 จำนวน 240 คนต่อเดือน

              4) การจับกุมครั้งสำคัญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในห้วงเดือนกรกฎาคม 2567 อาทิ (1) จับกุม เครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ 5 เครือข่าย ได้แก่ เว็บไซต์ “4dking.club” เว็บไซต์ “88lotto.club” เว็บไซต์ “mawin8s.com” เว็บไซต์ “huay-dd.com” และเว็บไซต์ “viphuay88.com” และจับกุมผู้กระทำความผิด จำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 360 ล้านบาท (2) จับกุมเว็บพนันออนไลน์ จำนวน 2 เว็บไซต์ ได้แก่ www.kingpigs1.com และ www.duckystars.com ซึ่งมีผู้เข้าเล่นกว่า 5 หมื่นคน และจับกุมผู้กระทำความผิดจำนวน 4 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ ได้เป็นจำนวน 190 ล้านบาท (3) จับกุมขบวนการหลอกลงทุน TURTLE FARM จำนวน 11 ราย พร้อมทั้งยึดทรัพย์ 116 ล้านบาท (4) ทลายขบวนการหลอกนำแรงงานต่างด้าวมาเปิดบัญชีม้า โดยสามารถจับกุมนายหน้าได้ 1 ราย พบเงินหมุนเวียนกว่า 3 พันล้านบาท

              สำหรับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้จับกุมคดีที่สำคัญในเดือนกรกฎาคม 2567 ได้แก่ กรณี Tvsod.com, Bee789.com, Ballza.com, 7mscorethai.com, 7mscorethai.net Suckballhd.com, Amloin789.com และ 7upth.com เผยแพร่รายการถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเชื่อมโยงกับเว็บไซต์พนันออนไลน์รายใหญ่ โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้สนธิกำลังร่วมกับกรมการปกครองนำกำลังกว่า 160 นายตรวจค้นสถานที่เป้าหมาย 21 จุด ที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดลิขสิทธิ์ การพนันออนไลน์ และบัญชีม้า

              ทั้งนี้ ในภาพรวมการจับกุมในเดือนกรกฎาคม 2567 พบว่า มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับการจับกุมในช่วงก่อนดำเนินการตามมาตรการปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ในช่วงเดือนมกราคม - มีนาคม 2567 โดยเฉพาะการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า ที่ลดลงถึงร้อยละ 13.33 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

          2. การปิดกั้นโซเชียลมีเดีย เว็บผิดกฎหมาย และเว็บพนัน

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมสอบสวนคดีพิเศษได้เร่งรัดปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมาย ในช่วงวันที่ 1 - 31 กรกฎาคม 2567 เทียบกับการดำเนินงานช่วงที่ผ่านมา สรุปผลได้ดังนี้

              1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท ในเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 16,279 รายการ เพิ่มขึ้น 7.10 เท่า จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายทุกประเภท จำนวน 2,294 รายการ

              2) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 จำนวน 6,519 รายการ เพิ่มขึ้น 67.21 เท่า จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่มีการปิดกั้นเว็บไซต์ประเภทพนันออนไลน์ จำนวน 97 รายการ

          3. มาตรการแก้ไขปัญหาบัญชีม้า เร่งอายัดและตัดตอนการโอนเงิน

              1) การระงับบัญชีม้าสะสมถึงเดือนกรกฎาคม 2567 มีการระงับบัญชีม้ารวม 920,694 บัญชี แบ่งเป็นสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินปิด 451,188 บัญชี ธนาคารระงับเอง 300,000 บัญชี และ AOC ระงับ 169,506 บัญชี

              2) กวาดล้างบัญชีม้าจากการใช้รายชื่อเจ้าของบัญชีม้า และรายชื่อผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยใช้อำนาจตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ทำการปิดบัญชีธนาคารทุกธนาคารจากชื่อบุคคลดังกล่าว โดยในเดือนกรกฎาคม 2567 มีการปิดบัญชีม้าไปแล้วจำนวน 34,840 บัญชี

              3) การยกระดับมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน ยกระดับการจัดการ “บัญชี” เป็น “บุคคล” ทุกธนาคารจัดการบัญชีม้าตามระดับความเสี่ยงด้วยมาตรฐานเดียวกันและมาตรการที่ให้สถาบันการเงินดำเนินการ โดยมีทางเลือกให้ลูกค้าสามารถล็อคเงินในบัญชีไม่ให้ทำธุรกรรมผ่าน ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และปลดล็อคได้ยากขึ้น และ/หรือ ปรับลดจำนวนวงเงินในการสแกนใบหน้าเพื่อทำธุรกรรมใน mobile banking รวมทั้งการเสนอบริการเพิ่มเติม อาทิ การถอนเงินที่อาศัยบุคคลอื่นช่วยอนุมัติ(double authorization) การโอนเงินเฉพาะรายชื่อที่กำหนดไว้ล่วงหน้า

          4. มาตรการแก้ไขปัญหาซิมม้า และซิมที่ผูกกับโมบายแบงก์กิ้ง

          ผลการดำเนินงานสำคัญถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 ดังนี้

              1) การระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกเกิน 100 ครั้งต่อวัน จำนวน 71,122 เลขหมาย มีผู้มายืนยันตัวตน 418 เลขหมาย และไม่มายืนยันตัวตน 70,704 เลขหมาย

              2) การกวาดล้างซิมม้าและซิมต้องสงสัย โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดหลักเกณฑ์ในการลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตน และผลการดำเนินงาน ดังนี้

                  2.1) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดมากกว่า 100 ซิม โดยมีจำนวนเลขหมายที่เข้าข่ายจำนวน 5.0 ล้านเลขหมาย ซึ่งครบกำหนดการยืนยันตัวตนเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 โดยมีการระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.0 ล้านเลขหมาย

                  2.2) กลุ่มผู้ถือครองซิมการ์ดตั้งแต่ 6 - 100 เลขหมายต่อค่ายมือถือ จะต้องยืนยันตัวตนภายในวันที่ 13 กรกฎาคม 2567 ซึ่งมีเลขหมายที่เข้าข่าย 4.0 ล้านเลขหมาย โดยมีการระงับซิมผู้ที่ไม่มายืนยันตัวตนแล้ว จำนวน 1.9 ล้านเลขหมาย

                  ทั้งนี้ การเข้มงวดในการเปิดใช้ซิมใหม่ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ การลงทะเบียนและยืนยันตัวตนของสำนักงาน กสทช. เพื่อป้องกันการนำชิมไปใช้กระทำผิดกฎหมาย

          5. การดำเนินการเรื่องเสาโทรคมนาคม สายสัญญาณอินเทอร์เน็ต และสายโทรศัพท์ที่ผิดกฎหมายตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเปิดยุทธการ “ระเบิดสะพานโจร” โดยปฏิบัติการสนับสนุนร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ สนธิกำลังกับหัวเรือใหญ่ สำนักงาน กสทช. พร้อมทั้งผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่าย AIS DTAC TRUE NT และหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ในการตัดสัญญาณโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพ ซึ่งเป็น “แก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ” สามารถลักลอบนำมาใช้ในการหลอกลวงประชาชนชาวไทยได้อีก โดยมีรายละเอียด ดังนี้

              1) กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 3 ร่วมกับตำรวจภูธรจังหวัดหนองคาย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมกวาดล้างเสาส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตเถื่อน 4 จุด ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งสามารถจับกุมผู้ต้องหา พร้อมตรวจยึดอุปกรณ์ของกลางเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมเถื่อนที่ใช้ในการส่งสัญญาณข้ามแดน

              2) กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดปฏิบัติการ Season 2 โค่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ยึดเครื่องมือส่งสัญญาณ Starlink - ซิมการ์ดต่างประเทศ ก่อนส่งเมียนมา โดยได้ทำการตรวจยึดอุปกรณ์รับ – ส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม Starlink จำนวน 73 เครื่อง ประกอบด้วยในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี จำนวน 30 เครื่อง กรุงเทพมหานครจำนวน 28 เครื่อง และจังหวัดตาก จำนวน 15 เครื่อง และสามารถทำการตรวจยึดซิมการ์ด รวมทั้งสิ้นจำนวน 18,742 ชิ้น

              3) สถานีตำรวจภูธรแม่สอด ตรวจยึดอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ส่งสัญญาณ ณ ท่าข้ามที่ 46 จากผลการตรวจค้นพบอุปกรณ์เชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ต ได้แก่ (1) กล่องรับส่งสัญญาณประมาณ 400 ชุด (2) อุปกรณ์เชื่อมสายสัญญาณ 1 ชุด (3) เสาอากาศ 4 ต้น และ (4) อุปกรณ์ติดตั้ง 2,500 ชิ้น

          6. การเพิ่มบทบาท ความรับผิดชอบให้ผู้ให้บริการเครือข่ายสังคมออนไลน์ ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และธนาคาร

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้ดำเนินการปรับเป็นพินัย กับผู้ให้บริการโทรคมนาคม (Internet service provider: ISP) ที่ไม่ดำเนินการตามกฎหมาย โดยได้แจ้งข้อกล่าวหาผู้ให้บริการโทรคมนาคม จำนวน 4 ราย และได้มีคำสั่งปรับพินัยผู้ให้บริการโทรคมนาคม จำนวน 4 ราย

          7. การบูรณาการข้อมูล

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้มีการประชุมหารือการแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ศูนย์ AOC 1441 เป็นแพลตฟอร์มรับและแลกเปลี่ยนข้อมูลบูรณาการข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ thaipoliceonline (สำนักงานตำรวจแห่งชาติ) ข้อมูลเส้นทางการเงิน (สมาคมธนาคารไทย) ข้อมูล HR 03 (สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน) ซึ่งจะทำให้ระงับบัญชีที่เกี่ยวข้องและดำเนินการจัดการคดีได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยยังต้องขอความร่วมมือทางสมาคมธนาคารไทยในการส่งข้อมูลเส้นทางการเงิน และทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูล thaipoliceonline เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตาม MOU และเร่งรัดในการจับกุมปัญหาบัญชีม้าอย่างเร่งด่วน

          8. การสร้างความตระหนักรู้ภัยออนไลน์ควบคู่กับการปราบปราม

          ในวันที่ 9 สิงหาคม 2567 กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจับมือ 10 หน่วยงาน พันธมิตรคิกออฟ “Digital Vaccine” จุดพลุ สร้างภูมิคุ้มกันคนไทย ห่างไกล “โจรออนไลน์” โดยมี 11 หน่วยงาน ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในการจัดทำพร้อมทั้งเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ ภายใต้โครงการ “Digital Vaccine” ประกอบด้วย (1) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (2) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (3) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (4) กรมประชาสัมพันธ์ (5) ธนาคารแห่งประเทศไทย (6) สำนักงาน กสทช. (7) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (8) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (9) สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (10) สมาคมธนาคารไทย (11) สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ทั้งนี้ ในเรื่องการเร่งรัดกวาดล้างบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมทั้งเร่งการอายัดบัญชีธนาคารตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นโซเชียลมีเดียหลอกลวงผิดกฎหมาย และเว็บพนันออนไลน์มีความคืบหน้าไปมาก อย่างไรก็ตามการปราบปรามจับกุมให้ถึงต้นตอคนร้ายทั้งที่อยู่ในไทยและอยู่ในต่างประเทศยังไม่น่าพอใจ นอกจากนี้จากการร่วมทำงานแก้ปัญหาที่ผ่านมา ยังพบปัญหาจากข้อกฎหมาย กฎระเบียบ โดยเฉพาะเรื่องการติดตามเงินและเร่งรัดการคืนเงินให้ผู้เสียหาย จึงจำเป็นต้องมีการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งคณะกรรมการฯ เห็นควรเร่งรัดจัดทำร่างกฎหมายให้พร้อมเสนอคณะรัฐมนตรีใน 30 วัน

          9. การแก้กฎหมายเร่งด่วน

          กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดประเด็นสำคัญในการดำเนินการปรับปรุง พระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ให้ได้ข้อยุติโดยด่วน ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการกฎหมายทำหน้าที่ในการพิจารณาดำเนินการเสนอร่างพระราชกำหนดให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทราบต่อไป

          ในภาพรวมการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเร่งรัดจับกุมคนร้ายกวาดล้างบัญชีม้า และซิมม้า เร่งการอายัดบัญชีธนาคาร ตัดเส้นทางการเงิน การปิดกั้นเว็บไซต์ผิดกฎหมายและเว็บพนันออนไลน์ ผลงานมีความชัดเจนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม สถิติการจับกุมบัญชีม้า ซิมม้า มีจำนวนลดลงในเดือนกรกฎาคม 2567 ซึ่งคณะกรรมการป้องกันฯ ได้มีการพิจารณาและกำชับในเรื่องนี้ด้วยแล้ว

          ทั้งนี้ คณะกรรมการป้องกันฯ ประเมินว่า จากการปรับปรุงการทำงานร่วมกันแบบบูรณาการเพื่อมุ่งลดข้อขัดข้องในด้านกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เป็นปัจจัยสำคัญให้จำนวนผู้เสียหายและมูลค่าความเสียหายจากคดีออนไลน์ลดลงในระยะต่อไป 

 

(โปรดตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรีที่เป็นทางการจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีอีกครั้ง)

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) 8 ตุลาคม 2567

 

 

10277

Click Donate Support Web 

Banner GPF720x100 PX


TOA 720x100

EXIM One 720x90 C JMTL 720x100

SME720x100 2024

CKPower 720x100

QIC 720x100

วิริยะ 720x100

AXA 720 x100

aia 720 x100

BKI 720 x 100

kbank 720x100 66

ธกส 720x100PTG 720x100

ใจฟู720x100px

AXA 720 x100

ooKbee1

corehoon NEW2

 

 

ข่าวล่าสุด!!